สมัชชาแม่น้ำ ยื่นหนังสือร้อง “บิ๊กตู่” หยุดโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ระบุ กทม.ดำเนินงานขาดส่วนร่วมภาคประชาชน-ผู้เกี่ยวข้อง
เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ นำโดย นางภารนี สวัสดิรักษ์ และนายยศพล บุญสม พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา นักวิชาการ เครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2559 เพื่อขอให้หยุดโครงการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ทางเครือข่ายฯ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้เคยยื่นข้อเสนอท้วงติงถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งแต่การประชุมรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 เมื่อเดือน เม.ย.2559 เพื่อขอให้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก่อน เพราะเห็นได้ชัดว่าแผนดำเนินการของที่ปรึกษาโครงการ มีปัญหาทำให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมและให้ความเห็นในแผนแม่บทการพัฒนา
ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ยังพบอีกว่า นอกจากประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและไม่ได้รับข้อมูลที่ครอบคลุมครบถ้วนแล้ว ที่ปรึกษาโครงการยังได้ดำเนินการออกแบบเบื้องต้นโดยที่ยังมิได้มีการรับฟังความคิดเห็น จึงเป็นการกำหนดพื้นที่และโครงการที่จะออกแบบอย่างขาดการมีส่วนร่วม และขาดแผนแม่บทอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน อีกทั้งการจัดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนสองครั้งที่ผ่านมา ก็มิได้มีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนล่วงหน้าที่จะทำความเข้าใจ
เครือข่ายฯ จึงเห็นว่าการดำเนินโครงการมีประเด็นปัญหาสำคัญทั้งในด้านนโยบาย กระบวนการ และรูปแบบการพัฒนา และหากยังคงดำเนินการต่อไปเช่นนี้ อาจนำมาสู่ความขัดแย้งและผลกระทบจากการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน อีกทั้งยังเป็นการกระทบต่อสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรม ที่เป็นภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ของชาติ ทั้งในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพอนามัย
สำหรับข้อเสนอที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.ให้ กทม.หยุดการดำเนินโครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝังแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อน 2.ให้ กทม.จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การทบทวนและปรับปรุงข้อกำหนดการศึกษา 3.ให้มีการบูรณาการแผนและนโยบายทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา 4.จัดกระบวนการมีส่วนร่วมให้ทั่วถึง โดยมีการให้ข้อมูลแก่ประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างเปิดเผย เพียงพอต่อการทำความเข้าใจและทั่วถึง
อนึ่ง นอกจากยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.แล้ว เครือข่ายฯ ยังได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการ และยื่นต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ขอให้พิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ เพื่อให้ดำเนินการด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในการมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตตามแนวทางการปฏิรูปประเทศอีกด้วย