ภาคธุรกิจชี้ เทรนด์ ‘สีเขียว’ ทางรอดตลาดโลก รัฐพัฒนาเกณฑ์จัดซื้อ-เน้นสินค้าเป็นมิตรสวล.

รัฐเดินหน้าขยายกรอบ เกณฑ์จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชนระบุ “ธุรกิจสีเขียว” ทางรอดสู้ตลาดโลก-เพิ่มประโยชน์องค์กร

นายณรงค์ บุญสงวน ที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เปิดเผยในงานเสวนา “ปลุกกระแสฉลากสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่การปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตร” จัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ TBCSD ตอนหนึ่งว่า กระบวนการเศรษฐกิจสีเขียวที่ถูกพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมขณะนี้ได้รับการยอมรับอย่างสูง โดยสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลกมากขึ้น ทำให้ประชาคมโลกได้มีการออกนโยบายและมาตรการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อขายภายในหรือส่งออกระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นายณรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปัจจุบันมีรายการสินค้าและบริการตามคู่มือจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปี 2559 จำนวน 19 สินค้า และ 5 บริการ โดยในอนาคตจะมีการขยายประเภทเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายเป้าหมายไปยังหน่วยงานท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย องค์การมหาชน และหน่วยงานกำกับของรัฐ ตามแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐปี 2556-2559

“โครงการฉลากเขียวของประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก (GEN) เพื่อสร้างความร่วมมือและพัฒนาเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับสากล นอกจากนี้ยังมีใบรับรองการขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอนสำหรับผลิตภัณฑ์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก” นายณรงค์ กล่าว

น.ส.ลัณฉกร ประทุมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) กล่าวว่า ในต่างประเทศนั้นผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น IKEA ได้มีการออกมาเปิดเผยว่ามียอดการสั่งซื้อในส่วนของสินค้า Green Product เพิ่มขึ้นถึง 58% ในปี 2557 สร้างรายได้มากขึ้นถึงกว่าพันล้านยูโร นอกจากนี้ในส่วนนโยบายของประเทศไม่ว่าจะในโซนยุโรปหรือแม้แต่จีน ล้วนมีกฎหมายหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้มีการค้นคว้าวิจัยจนได้วัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตกระดาษจากยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นต้นไม้สายพันธุ์โตเร็วที่สามารถปลูกขึ้นเองได้โดยไม่ต้องนำมาจากป่า และมีการส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างรายได้เพิ่มด้วยการปลูกบนพื้นที่คันนา จนทุกวันนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1 ล้านครัวเรือน และประสบความสำเร็จถึงขนาดที่ ฟิลลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ด้านการตลาดของโลกนำเอาโมเดลนี้ไปบรรยายเป็นตัวอย่างแก่อุตสาหกรรมอื่นๆ

นายชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระบวนการผลิตบริษัทยังคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานซึ่งอยู่ จ.ปราจีนบุรี มีการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่กว่า 34 ล้าน ลบ.ม.เพื่อรอรับน้ำหลากจากฤดูฝนเข้ามาใช้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำจากรัฐบาล ประกอบกับแนวคิดการนำของเสียมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง ช่วยให้สามารถประหยัดพลังงานได้กว่า 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี

“ผลการศึกษาโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ระบุว่าตลอดกระบวนการผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ลเอ 1 รีมสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนได้ 12.5 กิโลกรัม จนปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียว 6-7 แบรนด์ ฉะนั้นทุกวันนี้หากสินค้าใดไม่มีฉลากรับรองนั้นจะขายกับต่างประเทศได้ยากขึ้นเพราะเขาให้ความสำคัญ” นายชาญวิทย์ กล่าว

นายธนศักดิ์ สาคริกานนท์ ประธานคณะกรรมการ SCG eco value กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ SCG ยึดมั่นคือความรับผิดชอบต่อสังคมในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งธุรกิจในทุกวันนี้ไม่สามารถแข่งขันได้ด้วยการเดินตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องปฏิบัติตามสภาพความต้องการของลูกค้าและของโลกที่ขณะนี้ต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ SCG กำลังพยายามก้าวข้ามไปสู่อีกขั้นด้วยการสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมให้กับทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่กระบวนการผลิต คู่ค่าทางธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไปจนถึงช่วยทำให้ทุกองค์กรตระหนักถึงเรื่องการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายธนศักดิ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องทำฉลาก SCG eco value เป็นของตนเองนั้น นอกจากเหตุผลที่ต้องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว ฉลากนี้ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดอีกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างแบรนด์ให้ตนเองได้ ทำให้ SCG สามารถเพิ่มกำไรจาก 13% ในปี 2554 ที่มีการริเริ่ม เป็น 26% ในปี 2558 ฉะนั้นจึงนับได้ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง

“การก้าวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวนั้นมีความจำเป็นเพราะกำลังเป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งไม่ว่าเป้าหมายต่างๆ ทั้งในส่วนของสหประชาชาติ หรือรัฐบาลเองล้วนสนับสนุน” นายธนศักดิ์ กล่าว