คพ.คลอดมาตรการฟื้นฟู ‘คลองแสนแสบ’ ชง กทม.งดต่อใบอนุญาตอาคารปล่อยน้ำเสีย

คพ.เดินหน้าแผนฟื้นฟู ‘คลองแสนแสบ’ ระยะที่ 1 จ่อชง กทม.งดต่อใบอนุญาตอาคารปล่อยน้ำเสีย อธิบดี เผยสำรวจเบื้องต้นพบ 70% บำบัดไม่ได้มาตรฐาน

นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยในเวทีสัมมนา “แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อคืนน้ำใสให้คลองแสนแสบ” ตอนหนึ่งว่า หนึ่งในข้อเสนอแนวทางของแผนปฏิบัติการเพื่อคลองแสนแสบสะอาดภายใน 2  ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2558 คือเชื่อมโยงฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิผล

ทั้งนี้ เบื้องต้น คพ.อยู่ระหว่างประชุมหารือเพื่อเสนอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) งดต่อใบอนุญาตสำหรับอาคารที่ไม่ดำเนินการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากเป็นอำนาจในส่วนที่ กทม.สามารถกระทำได้

นายวิจารย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการฟื้นฟูคลองแสนแสบของ คพ. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระยะที่ 1 ปี 2559-2560 โดยตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารและที่ดินจัดสรร ในเขตริมคลองแสนแสบจำนวน 13 เขต 371  แหล่งเป้าหมาย ก่อนจะดำเนินการระยะที่ 2  ในปี 2561 กับเขตริมคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบที่เหลือให้ครบทั้งหมด 21 เขต 631 แหล่งเป้าหมาย

สำหรับผลการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในรอบ 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือน มี.ค.2559 จำนวน 128 แห่ง พบว่ามีผลการบำบัดน้ำเสียไม่เป็นไปตามมาตรฐานถึง 70% หรือ 88  แห่ง โดยมากที่สุด 3  อันดับแรก ได้แก่ โรงแรม 34 แห่ง อาคารชุด 22  แห่ง และโรงพยาบาล 18  แห่ง

นายธีระพล ติษยาธิคม ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายสิ่งแวดล้อม กองนิติการ คพ. กล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษคือจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย และปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้มีการเก็บสถิติ ข้อมูล และจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนให้ความร่วมมือและไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการตรวจสอบ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1  เดือน หรือปรับไม่เกิน 1  หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เจ้าพนักงานจะมีคำสั่งหากพบว่า 1.แหล่งกำเนิดมลพิษใดไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ผู้ครอบครองจะต้องจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรา 70 2.หากมีระบบบำบัดน้ำเสียแต่ไม่ได้มาตรฐาน จะต้องจัดการแก้ไข ปรับปรุง หรือซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรา 82(2) 3.หากมีระบบบำบัดน้ำเสียแต่ละเว้นไม่ทำการบำบัด และลักลอบปล่อยน้ำเสียสู่ภายนอก จะถูกสั่งปรับตามมาตรา 82(3) รายวันในอัตรา 4  เท่าของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายประจำวันสำหรับการเดินระบบบำบัดน้ำเสีย

น.ส.ผานิต รัตสุข ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจและบังคับการ คพ. กล่าวว่า สำหรับแหล่งกำเนิดมลพิษเป้าหมายเบื้องต้นที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยกำหนดระยะเวลาแก้ไขภายใน 60-120  วันแล้วแต่กรณี ในส่วนของการขอขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ครอบครองจะต้องเสนอข้อมูลที่ระบุชัดเจนว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด พร้อมทั้งแผนดำเนินการและเอกสารหลักฐานประกอบ เพื่อพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าพนักงาน