กทม.คลอดเกณฑ์เก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสีย โดนหมด ‘บ้านเรือน’ ยัน ‘โรงงานอุตสาหกรรม’

ที่ประชุมสภา กทม.เสนอเก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสีย คาดได้เงินปีละไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท ชงผู้บริหารเปิดไฟเขียว

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2559 ได้พิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการบังคับใช้บัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำเสีย การบริหารทรัพยากรน้ำ และการบำบัดน้ำเสียโดยเสนอให้เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมในบริเวณที่มี 8 โรงบำบัดน้ำเสีย ประกอบด้วย สี่พระยา รัตนโกสินทร์ ดินแดง ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ จตุจักร บางซื่อ มีนบุรี ธนบุรีเหนือ คลองเตย หนองบอน ธนบุรีใต้

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาและข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งจะเสนอต่อผู้บริหารกทม.เพื่อพิจารณาว่าเห็นด้วยกับอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวหรือไม่ และจะประกาศบังคับใช้เมื่อใด

สำหรับค่าธรรมเนียมจะแบ่งการจัดเก็บตามแหล่งกำเนิด ได้แก่ 1.บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย จะจัดเก็บในอัตราเหมาจ่าย 3 บาท ต่อหลังคาเรือน โดยจะเก็บร่วมกับการเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอย แต่หากใช้น้ำไม่เกินเดือนละ 10 ลูกบาศก์เมตร จะได้รับค่ายกเว้น ปัจจุบันมีบ้านเรือนประมาณ 2 แสนราย คาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณปีละ 100 ล้านบาท

2.หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน โรงพยาบาล มูลนิธิ ศาสนสถาน อาคารต่างๆ จะจัดเก็บในอัตราเหมาจ่ายตามจำนวนการใช้น้ำ โดยคิดราคาเป็น 3 ช่วง เริ่มตั้งแต่ 500 บาท 1,000 บาท และ 1,500 บาท คาดว่าจะจัดเก็บได้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของอาคารสามารถจ่ายได้ที่สำนักงานเขต หรือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ประสานงานไว้

3.กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โรงแรม โรงงาน มีจำนวนกว่า 2,000 ราย ซึ่งจะจัดเก็บตามปริมาณการเกิดน้ำเสียจริง ในอัตรา 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะจัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท โดยเจ้าของอาคาร สามารถจ่ายได้ที่สำนักงานเขต หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานครได้ประสานงานไว้

ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ สมาชิกสภา กทม. กล่าวว่า เบื้องต้น กทม.จะไปพิจารณาแก้ไขข้อบัญญัติเพิ่มเติม เพื่อกำหนดบทลงโทษกรณีที่ไม่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามกฎหมาย คาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 50-70% จากจำนวนทั้งหมด ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดงบประมาณในการนำบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย และพัฒนาระบบเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก