กษ.ผุดแผนการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เสริมเกราะภาคเกษตรรับมือความผันผวน

กระทรวงเกษตรฯ เร่งจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร พ.ศ.2560-2564 เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตร เพื่อเท่าทันความผันผวนที่รุนแรงขึ้น

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กษ.อยู่ระหว่างการเร่งจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร พ.ศ.2560-2564 โดยจะสังเคราะห์และทบทวนผลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ปี 2555-2557 รวมทั้งประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาห่วงโซ่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางการปรับตัวของภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง

นายสุรพล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่โลกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และประเทศไทยเองก็ตั้งอยู่บนบริเวณที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากรอบปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณน้ำฝนไม่เป็นตามฤดูกาล พื้นดินและสภาพดินมีความเสื่อมโทรม ภูมิอากาศหรืออุณหภูมิภายในประเทศมีความผันผวนตลอดทั้งปี รวมทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติขนาดใหญ่อีกหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสัญญาณให้ประเทศไทยและนานาประเทศร่วมมือกันในการจัดการบรรเทาและปรับตัวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นายสุรพล กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 197 ประเทศ โดยนอกจากการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาแล้ว ยังมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาความสามารถในการปรับตัว และสร้างความรู้หรือความตระหนักแก่ประชาชนโดยทั่วไป ในส่วนของประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุม และได้เสนอแนวทางการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ.2020

สำหรับสถานการณ์ในระดับนานาชาติ ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมกันจัดทำข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) วัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นขึ้น ซึ่งการจะบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศโดยการลงสัตยาบัน (ratification) อย่างน้อย 55 ประเทศ และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 55% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ปัจจุบันมีประเทศภาคีลงสัตยาบัน 18 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ระหว่างวิเคราะห์สถานการณ์และพิจารณาการลงสัตยาบรรณภายใต้ข้อตกลง